ทุกหยาดเหงื่อเพื่อเธอ

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โครงการนำร่องการผลิตเสาวรสในระดับฟาร์ม
โดยใช้พันธุ์สีม่วงปลอดโรคไวรัส


สถานที่ตั้ง
สถานีเกษตรหลวงปางดะ มูลนิธิโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่

ความเป็นมา
เสาวรสพันธุ์สีม่วงรับประทานสดเป็นไม้ผลส่งเสริมของมูลนิธิโครงการหลวงที่ได้รับความนิยมมาก และมีปริมาณความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมากทุกปี เป็นพืชที่ให้ผลผลิตเร็ว สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ดี มีช่วงการเก็บเกี่ยวได้นานถึง 7 เดือนใน 1 ปี ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกประมาณ 500 ไร่ ผลผลิตที่มีคุณภาพดี เกษตรกรสามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 17-30 บาท และที่สำคัญปัจจุบันจัดว่าเป็นผลไม้ที่มีความต้องการสูงกว่าผลผลิตที่สามารถผลิตได้ เนื่องจากปัญหาการเกิดโรคไวรัสระบาดในต้นแม่พันธุ์ดี และพบว่าต้นแม่พันธุ์ที่ขยายพันธุ์ในขณะนี้แสดงอาการของโรคไวรัส และเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคทั่วไปในแปลงปลูกของเกษตรกร โรคไวรัสที่เกิดจากเชื้อไวรัส PWV (passion fruit woodiness virus)

มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้ร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำวิจัยโดยการนำส่วนปลายยอดเจริญของเสาวรสพันธุ์สีม่วง ซึ่งเป็นพันธุ์ดี เพื่อเลี้ยงให้ได้ยอดปลอดโรค โดยต้องตรวจสอบว่าปราศจากโรค ก่อนเพิ่มจำนวนยอด ยอดทั้งหมดที่เพิ่มจำนวนจึงปลอดโรคร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องนำยอดดังกล่าวออกจากขวด นำมาเสียบบนต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดของเสาวรสพันธุ์สีเหลืองที่ตรวจสอบแล้วว่าปลอดโรคไวรัสเป็นต้นตอ ทำให้สามารถขยายพันธุ์ต้นปลอดโรคได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งยอดที่เพาะโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสามารถเสียบยอดกับพืชที่เพาะเมล็ดตามธรรมดาได้ผลดี และต้นที่ได้แข็งแรง และเจริญเติบโตได้เร็ว แทนวิธีการทั่วไปที่เพาะเลี้ยงให้เกิดรากแล้วนำออกจากขวดมาปลูกในแปลงปลูก ซึ่งต้นที่ได้อ่อนแอและแข็งแรงน้อยกว่า หรือตามที่มีรายงานคือใช้ปลายยอดเจริญเสียบบนต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดในขวด ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เพราะมีเปอร์เซ็นต์ปลอดโรคต่ำ

เสาวรสที่นิยมปลูกมี 2 สายพันธุ์คือ พันธุ์สีเหลืองมีรสเปรี้ยวจัด กลิ่นหอม เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากเหมาะสำหรับนำไปผลิตเป็นน้ำผลไม้ และทนทานต่อการเกิดโรคได้ดี และพันธุ์สีม่วงมีรสเปรี้ยวอมหวาน เป็นพันธุ์ที่นิยมรับประทานสด โดยแหล่งผลิตเสาวรสที่สำคัญของโลกได้แก่ บราซิล เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และเปรู ปริมาณผลผลิตทั่วโลกมีประมาณ 805,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์สีเหลือง แต่ปัจจุบันเสาวรสพันธุ์สีม่วงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในตลาดสหรัฐอเมริกามีความต้องการเสาวรสประมาณปีละ 3,000 ตัน ส่วนประเทศไทยสามารถผลิตเสาวรสพันธุ์สีม่วงเพื่อรับประทานสดได้ประมาณ 500 ตันต่อปี ราคาอยู่ที่ 28 – 58 ต่อกิโลกรัม โดยขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้การสนับสนุนเงินอุดหนุนในโครงการ “ทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม” ในวงเงินไม่เกิน 1,778,120 บาท ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ให้กับมูลนิธิโครงการหลวง ในการนำร่องการผลิตเสาวรสในระดับฟาร์มโดยใช้พันธุ์สีม่วงปลอดโรคไวรัสเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลต่อเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ

วัตถุประสงค์

• ทดสอบคุณภาพ และผลผลิตของแม่พันธุ์ต้นเสาวรสปลอดโรคไวรัส ในโรงเรือนทดลอง
• ขยายพันธุ์เสาวรสปลอดโรคจากผลการทดสอบที่ได้จากโรงเรือนทดลอง
• นำต้นพันธุ์เสาวรสที่ได้จากการขยายพันธุ์ ไปทอสอบการผลิตและการจัดการในพื้นที่การปลูกของเกษตรกรที่คัดเลือกเข้าร่วมโครงการ

ประโยชน์ที่ได้รับ
• สถานีเกษตรหลวงปางดะ มูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนคัดพันธุ์และขยายพันธุ์พร้อมระบบน้ำ ในพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงปางดะเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยโรงเรือนแม่พันธุ์ได้ลงต้นพันธุ์ปลูกแบบเว้นระยะห่างจำนวน 18 ต้น และโรงเรือนคัดพันธุ์ได้ลงต้นจำนวน 76 ต้น
• มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริม ดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนปลูกเสาวรสที่มีหลังคาและไม่มีหลังคาพร้อมระบบน้ำบนพื้นที่ของเกษตรกรจำนวน 3 ราย รวม 3 ฟาร์ม จาก 6 ฟาร์ม ซึ่งขยายผลต่ออีก 3 ฟาร์ม ภายในเดือนกรกฎาคม 2553 ปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
• จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ต้นเสาวรสที่ปลูกด้วยต้นพันธุ์ปลอดโรคไวรัสมีความแข็งแรงและสมบูรณ์กว่าต้นเสาวรสที่ปลูกด้วยต้นพันธุ์ปกติ (ติดไวรัสโรคพืช) โดยสังเกตได้จากลักษณะของใบไม่หงิกงอ ไม่มีจุดด่าง สีเขียวเข้ม และลำต้นมีความสมบูรณ์กว่า
• ในรอบการผลิตแรกตั้งแต่เริ่มปลูกด้นเสาวรสที่ปลูกโดยใช้ต้นพันธุ์ปลอดโรค เมื่อติดดอกดอกจะร่วงไม่ให้ผลผลิต ซึ่งขณะนี้คณะนักวิชาการเกษตรกำลังหาสาเหตุและจะดำเนินการพัฒนาต่อไป ซึ่งเมื่อทิ้งไว้ซักระยะอาการบ้าใบก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2551 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2553

ผลการดำเนินงาน

 

โรงเรือนขยายพันธุ์และคัดพันธุ์เสารวสสีม่วง ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ
 

โรงเรือนแบบมีหลังคา และไม่มีหลังคา บนพื้นที่เกษตรกรชาวไทยภูเขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น