ทุกหยาดเหงื่อเพื่อเธอ

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ที่นั่งช่วยปัสสาวะให้ผู้ป่วย

รศ.ดร.กอบวุฒิ รุจิจนากุล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้จดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ที่นั่งช่วยสังเกต และเก็บตัวอย่างจากระบบขับถ่ายและบริเวณใกล้เคียงระบบขับถ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการร้องขอจาก นางญาณิกา รุจิจนากุล พยาบาลประจำแผนกสูตินารีเวชโรงพยาบาลมหาราช มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ตนเป็นผู้ออกแบบ โดยวัตถุประสงค์เดิมของอุปกรณ์ดังกล่าว คือ มีไว้เพื่อให้ผู้ป่วยใช้สวนท่อปัสสาวะโดยเฉพาะผู้ป่วยสตรี แต่ตนได้ออกแบบให้ครอบคลุมการใช้งานในหลายๆ ด้าน และสามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิง
ทั้งนี้มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งในหอผู้ป่วยนรีเวชกรรม 3 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะหนึ่งบีและสองเอ ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคน (Radical hysterectomy) เป็นการตัดเนื้อเยื่อข้างมดลูกและเนื้อเยื่อข้างช่องคลอดออกมากขึ้น ร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยทุกรายหลังผ่าตัดโดยวิธีนี้ คือ การทำหน้าที่ผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ จึงต้องคาสายสวนปัสสาวะไว้อย่างน้อย 5-7 วันแรกหลังผ่าตัด และต้องตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะจนแน่ใจว่าผู้ป่วยสามารถปัสสาวะเองได้แล้ว
การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งปากมดลูก มักมีการกระทบต่อส่วนล่างของท่อไตและกระเพาะปัสสาวะเสมอ เพราะอวัยวะส่วนนี้มีความสัมพันธ์ทางด้านกายวิภาค สรีรวิทยา พยาธิวิทยาต่อการผ่าตัดการรักษา ตลอดจนการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ การทำงานของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ซึ่งจะสามารถฟื้นกลับคืนได้เป็นปกติได้ในเวลาที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการผ่าตัดที่มีการเลาะต่อมน้ำเหลืองและกระทบกระเทือนเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณกระเพาะปัสสาวะ กายวิภาคของผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ผู้ป่วยร้อยละ 66-70 สามารถถ่ายปัสสาวะได้เองภายใน 30 วันหลังผ่าตัด
ดังนั้นผู้ป่วยที่มีการทำงานของกระเพาะปัสสาวะที่ผิดปกติจะต้องมีการสวนปัสสาวะด้วยตนเอง โดยสอดใส่สายสวนปัสสาวะที่ปราศจากเชื้อเข้าไปในท่อปัสสาวะจนถึงกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้ปัสสาวะไหลออกมา โดยใช้เทคนิคปราศจากเชื้อและต้องทำทุก 4 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะประเมินได้ว่าผู้ป่วยสามารถถ่ายปัสสาวะเองได้หมด หรือมีปัสสาวะค้างไม่เกิน 75 มิลลิลิตร
ขั้นตอนเดิมที่ใช้ในการสวนปัสสาวะด้วยตนเอง คือ ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าคุกเข่าบนเตียง หรือยืนสวนปัสสาวะ โดยยกขาข้างหนึ่งวางบนเก้าอี้ยืนคร่อมกระจกเงา บางครั้งผู้ป่วยต้องงอเข่าลงเพื่อให้ปัสสาวะไหลลงให้ตรงถ้วยตวงที่ใช้รองรับปัสสาวะ ทำให้เกิดการปวดเข่า ปวดขา ปวดหลัง บางรายจะมีแคมในบวมมากทำให้สวนปัสสาวะลำบาก มองเห็นรูปัสสาวะไม่ชัดเจน จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดในการประยุกต์เก้าอี้เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ทำการสวนปัสสาวะด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความสุขสบาย ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ เข่า ขา และหลัง และมองเห็นรูเปิดท่อปัสสาวะชัดเจน โดยครั้งแรกได้มีการประดิษฐ์เก้าอี้สวนปัสสาวะในปี 2549 ผู้ป่วยมีความพึงพอใจระดับหนึ่ง เนื่องจากการสวนปัสสาวะต้องมีการล้างมือที่สะอาด 7 ขั้นตอน และยกขาข้ามเก้าอี้นั่งโดยไม่ให้มือสัมผัสกับวัตถุใด แล้วจึงหยิบสายสวนปัสสาวะ แต่พบปัญหาตามมาคือผู้ป่วยที่มีอายุมากบางคนน้ำหนักตัวมาก ขาและเข่ายกไม่ค่อยได้ การทรงตัวไม่ดี มีโอกาสลื่นล้มได้ จึงคิดประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่นั่งช่วยสังเกตและเก็บตัวอย่างจากระบบขับถ่ายและบริเวณใกล้เคียงระบบขับถ่าย
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการช่วยผู้ป่วยในการสวนท่อปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากความจำเป็นของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากแพทย์ อาทิ การผ่าตัด ทางแพทย์มีความจำเป็นต้องการประเมินผลการรักษา ข้อมูลที่สำคัญอันหนึ่ง คือ ปริมาณปัสสาวะและสิ่งที่ปะปนมากับปัสสาวะ ดังนั้นการเก็บตัวอย่างจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ในกรณีสุภาพสตรีนั้นค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากปัจจัยทางสรีระของสุภาพสตรีเอง ทำให้การสวนทำได้ยากและมักมีการติดเชื้อหลังการสวน อุปกรณ์ดังกล่าวจึงน่าจะบรรเทาความทุกข์ยากของผู้ป่วยได้และทำให้การประเมินการรักษาทำได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยต้องทำการรักษาด้วยตนเองที่บ้าน
อุปกรณ์นี้ยังสามารถใช้ในการเก็บตัวอย่างทางทวารหนัก รวมทั้งใช้ในการสังเกตโรคทางทวารทั้งสองด้วยตนเอง เช่น โรคริดสีดวง โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากในสุภาพบุรุษ และพยาธิ นอกจากนี้ยังช่วยให้การใช้ยารักษาเชื้อราชนิดต่างๆ สะดวกขึ้น ตลอดจนช่วยให้การให้ยาช่วยถ่ายสะดวกขึ้น และช่วยในการสังเกตการอักเสบ แผลหลังการคลอด และการผ่าตัดด้วย
“อุปกรณ์ที่ใกล้เคียงหรือมีหลักการทำนองนี้ ได้มีจำหน่ายและจดสิทธิบัตรบ้าง แต่เมื่อเทียบกับสิ่งประดิษฐ์ของตนแล้วพบว่าสิ่งที่ทำขึ้นมีความสะดวกกว่า ครอบคลุมการใช้งานมากกว่า ที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ที่ตนออกแบบนี้มีถูกกว่าต่างประเทศมาก ต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาท โดยดัดแปลงจากเก้าอี้ที่มีอยู่ทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันมีคนไข้รอการใช้เครื่องมือดังกล่าวอยู่จำนวนมาก จึงคาดว่าผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง” รศ.ดร.กอบวุฒิ กล่าว

ฝ่ายวิชาการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.dailynews.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น